การเรียน หลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity Program For Executives (WHB) รุ่นที่ 5 วันที่ 23 พ.ค.2568

ณ ห้องมณฑาทิพย์ 1 ชั้น 1 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. หลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity Program for Executives (WHB) รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาบรรยายหัวข้อ “Pharmacological Innovation : Opportunity for Thai Industry” ท่านได้กล่าวถึงโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเภสัชกรรมในประเทศไทยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน ท่านยังกล่าวถึงการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริม และเวชสำอาง ซึ่งมีศักยภาพสูงจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ เช่น การใช้ AI ในการค้นคว้ายา การพัฒนายารักษาโดยใช้ RNA และการวินิจฉัยโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ ท่านได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ทดสอบคุณภาพ ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนการตลาด สะท้อนถึงแนวทางการผลักดันนวัตกรรมยาของประเทศไทยให้แข่งขันได้ในระดับโลกและตอบโจทย์สุขภาพของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และรองประธานกรรมการบริหารหลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 ได้มอบของขวัญให้กับท่านวิทยากร รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ ณ ห้องมณฑาทิพย์ 1 ชั้น 1 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

เวลา 15.15 น. หลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก คุณจิรัญญา ประชาเสรี ประธานกรรมการบริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไครโอวิวา (ประเทศไทย) จำกัด มาบรรยายหัวข้อ “โอกาสในการสร้างการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับ Cell Banking and Therapy” ท่านได้กล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การบำบัดด้วยเซลล์ (Cell Therapy) และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก ด้วยมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะสูงถึง 170.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2034 การบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) โดยเฉพาะ Mesenchymal Stem Cells (MSCs) ได้รับความสนใจในฐานะเครื่องมือในการฟื้นฟูสุขภาพในด้านการรักษาโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคข้ออักเสบ และโควิด-19 ตลอดจนการฟื้นฟูร่างกาย เสริมความงาม และแก้ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในการผลักดันนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ภายในปี 2570 พร้อมส่งเสริมการลงทุนและพัฒนากฎหมายให้เอื้อต่อการวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจด้านเซลล์และการบำบัดต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและการกำกับดูแลให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีชีวการแพทย์ในอนาคต ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ ได้มอบของที่ระลึกให้กับท่านวิทยากร คุณจิรัญญา ประชาเสรี ณ ห้องมณฑาทิพย์ 1 ชั้น 1 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

เวลา 16.45 น. หลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มาบรรยายหัวข้อ “การส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์” ท่านได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์ ผ่านการกำกับดูแลที่เน้นความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยดำเนินการภายใต้กฎหมาย 7 ฉบับที่ครอบคลุมตั้งแต่ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงสมุนไพรและวัตถุอันตราย อีกทั้งยังส่งเสริมนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน วิจัย และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล แนวโน้มเศรษฐกิจสุขภาพมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลกและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ท่านยังเสนอแนวทางพัฒนา เช่น ปัจจุบันได้มีการสร้างระบบ fast-track สำหรับนวัตกรรม การส่งเสริมความร่วมมือรัฐ-เอกชน และการยกระดับความรู้ผู้ประกอบการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ควบคู่กับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ได้มอบของขวัญให้กับท่านวิทยากร นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ณ ห้องมณฑาทิพย์ 1 ชั้น 1 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ