การเรียนหลักสูตร

Wellness & Healthcare Business Opportunity Program for Executives (WHB) รุ่นที่ 5

วันที่ 14 ก.พ.2568

     ณ ห้องมณฑาทิพย์ 1 ชั้น 1 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.30 น. หลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity Program for Executives (WHB) รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤตบำบัด และอดีตอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มาบรรยายหัวข้อ “Optimal Exercise for Enhancing Healthy Longevity” ท่านได้กล่าวถึง การออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) การออกกำลังกายแบบหนักสลับเบา โดยมีการจัดอัตราส่วนเวลาในการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ประโยชน์ของ HIIT คือการช่วยสลายไขมันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ช่วยลดระดับไขมันในร่างกาย ลดไขมันที่พอกอยู่ตามอวัยวะต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่ทดลองออกกำลังกายแบบ HIIT เทียบกับการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ พบว่า การออกกำลังกายแบบ HIIT ช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าถึง 30% เป็นประโยชน์กับคนที่อยากลดความอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ และช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อดึงออกซิเจนมาใช้มากขึ้น ทั้งนี้ท่านวิทยากรได้ยกตัวอย่างวิธีการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแบบเต็มที่ ใช้เวลาเพียง 1 นาที ทำ 3 ครั้ง/วัน เท่านั้น เช่น (1) ออกกำลังกายหัวเข่า โดยการยืนขาเดียว เพื่อให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง ลดอาการปวดหัวเข่าได้ (2) ออกกำลังกายหลัง โดยการยืนพิงกำแพง ยกมือขึ้นลง แขนแนบกำแพง ทำเรื่อยๆ จนรู้สึกเมื่อยบริเวณหลัง และท่านได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการรับประทานโปรตีนจากสัตว์ว่ามีคุณภาพสูงกว่าการทานโปรตีนจากพืช เพราะโปรตีนจากสัตว์จะมีกรดอะมิโน 9 ชนิด และร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีนจากพืช ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการบริหารหลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 ได้มอบของที่ระลึกให้กับท่านวิทยากร นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน

     เวลา 15.30 น. หลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงเมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มที่ 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มาบรรยายในหัวข้อ “Next-Gen Healthcare : Navigating Innovation and Digital Transformation for Patient-Centric Care and Operational Efficiency at Bangkok Hospital” ท่านได้กล่าวถึง กระบวนการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ประกอบไปด้วย การนำตนเองและองค์กรไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีนวัตกรรมใหม่, ผู้บริหารระดับสูงมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน, สร้างเสริมวัฒนธรรมขององค์กรที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม, การจัดสรรหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ อีกทั้งท่านยังได้กล่าวถึง นวัตกรรมการให้บริการและการรักษาใหม่ๆ ของโรงพยาบาลภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ Patient Centric and Operation Efficiency Innovation : นวัตกรรมที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและเน้นความมีประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านนวัตกรรมสุขภาพ โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อดังนี้ (1) Your Healthcare Intelligence แอปพลิเคชัน My B+ ที่รวมทุกข้อมูลสุขภาพไว้ในมือถือ ทำให้ผู้ที่เข้ารับบริการของโรงพยาบาลกรุงเทพสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย รวมถึงการได้รับบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว (2) Smart OPD การใช้ AI Face Scan Vital sign เพื่อวิเคราะห์สัญญาณชีพ, AI Eye screening ตรวจโรคเกี่ยวกับดวงตาผ่านการสแกนเรตินา, AI Translation (CARIVA) ใช้สื่อสารทางการแพทย์กับผู้ป่วยได้หลายภาษา (3) Smart IPD การใช้ Smart BDMS Medication Cart (Closed Loop Medication Administration) ระบบบริหารยาด้วย Smart BDMS Medication Cart เพื่อลดข้อผิดพลาดทางยา, Smart ICU และSmart OR ใช้ระบบดิจิทัลบริหารข้อมูลและติดตามสถานะผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ได้มอบของที่ระลึกให้กับท่านวิทยากร แพทย์หญิงเมธินี ไหมแพง ณ ห้องมณฑาทิพย์ 1 ชั้น 1 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

     เวลา 17.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ ได้แนะแนวปฏิบัติในการทำโครงงานวิชาการนวัตกรรมด้านเวลเนส หรือ นวัตกรรมด้านเฮลท์แคร์ ให้กับผู้เรียนหลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มแคลเซียม (Ca) และกลุ่มโครเมียม (Cr) 2. กลุ่มไอร์ออน (Fe) และกลุ่มแมกนีเซียม (Mg) 3. กลุ่มซีลีเนียม (Se) และกลุ่มซิงค์ (Zn) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มมีโอกาสได้ทำความรู้จักธุรกิจและหน้าที่การงานระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การระดมความคิด เพื่อสร้างโครงงานวิชาการนวัตกรรมด้านเวลเนส หรือ นวัตกรรมด้านเฮลท์แคร์ของกลุ่มต่อไป

     เวลา 17.30 น. “Group Project Dialogue I” (3 กลุ่ม) นำโดย หัวหน้ากลุ่มทั้ง 6 กลุ่ม และอาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มแคลเซียม (Ca) และกลุ่มโครเมียม (Cr) 2. กลุ่มไอร์ออน (Fe) และกลุ่มแมกนีเซียม (Mg) 3. กลุ่มซีลีเนียม (Se) และกลุ่มซิงค์ (Zn)

        1. กลุ่มแคลเซียม (Ca) และกลุ่มโครเมียม (Cr)

2. กลุ่มไอร์ออน (Fe) และกลุ่มแมกนีเซียม (Mg)

3. กลุ่มซีลีเนียม (Se) และกลุ่มซิงค์ (Zn)