หยุดความเสื่อมเซลล์ คืนความเยาว์วัยให้กับมนุษย์ โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สมอาจ วงษ์ขมทอง
ในปี 2013 แพทย์ชาวสเปนชื่อ Carlos Lopez Otin ร่วมกับแพทย์ชาวฝรั่งเศสและแพทย์อีกหลายท่านได้ตีพิมพ์บทความ ชื่อ Hallmarks of Aging (ลักษณะสำคัญของเซลล์ชราภาพ)
ลงในวารสารเซลล์ (http://dx .dol.org/10.1016-j.cell.2013.05.039) ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำในวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยรวบรวมผลงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกและสรุปสาเหตุความชราและความเสื่อมของเซลล์ 9 ประการที่นำไปสู่โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใดๆ (โรคเอ็นซีดี : Non communicable diseases ) รวมทั้งโรคมะเร็ง และความชราภาพของมนุษย์
สาเหตุความชราและความเสื่อมของเซลล์ (Hallmarks of Aging)
ประการที่ 1 เกิดจากการที่ DNA ได้รับบาดเจ็บจากอนุมูลอิสระเนื่องจาก DNA เป็นสารที่กำหนดลักษณะต่างๆของมนุษย์ สัตว์และพืชโดยควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์เราในทุกมิติ ห่วงโซ่ DNA ประกอบด้วยยีน (Gene) ประมาณ 30,000 ยีน เรียงตัวกัน ทำการผลิตโปรตีน 30,000 ชนิด การที่ DNA โดนทำลายแม้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการเกิดโรคต่างๆของมนุษย์
ประการที่ 2 เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดลดน้อยลงเซลล์ต้นกำเนิด ( Stem Cells )เป็นเซลล์อ่อนวัยที่ฝังตัวอยู่ในอวัยวะต่างๆเพื่อคอยโอกาสในการเจริญเติบโตเพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ตาย
หรือเสื่อมสภาพไป แต่เมื่อมนุษย์เรามีอายุมากขึ้น จำนวนเซลล์ต้นกำเนิดนี้จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถจะทดแทนเซลล์เก่าได้ จึงก่อให้เกิดโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์
( Degenerative Diseases ) เช่นสมองเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก เป็นต้น
ประการที่ 3 เกิดจากเทโลเมียร์ (Telomere) หดสั้นลงเทโลเมีย์เป็นบริเวณส่วนปลายสุดของสายโซ่ DNA ซึ่งเป็นตัวที่จะกำหนดว่าจะให้เซลล์หยุดแบ่งตัวเมื่อไรเทโลเมียร์จะหดสั้นลงทุกครั้ง
ที่เซลล์มีการแบ่งตัวจนในที่สุดเมื่อเทโลเมียย์หดสั้นลงเต็มที่ ก็จะสั่งให้เซลล์หยุดแบ่งตัวอันเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดหยุดการเจริญเติบโตรวมทั้งเป็นสาเหตุแห่งความชราและความเสื่อมของการทำงานของอวัยวะนั้นๆและนำไปสู่การตายได้
ประการที่ 4 เกิดจากเซลล์ชราภาพ (Cellular senescence) แต่ไม่ถูกกำจัดออกไป
ประการที่ 5 เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเหนือพันธุกรรม (Epigenetic Alteration ) ทำให้การซ่อมแซมและการควบคุมการทำงานของ DNA บกพร่อง
ประการที่ 6 เกิดจากไมโทคอนเดรียเสื่อมสภาพ (Mitochondria Dysfunction )
ประการที่ 7 เกิดจากการขาดภาวะสมดุลของโปรตีน ( Loss of Proteostasis)
ประการที่ 8 เกิดจากการติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์ผิดปกติ (Altered Intercellular Communication) และ
ประการที่ 9 เกิดจากความบกพร่องของการรับรู้ภาวะโภชนาการระดับเซลล์ (Deregulated Protein Sensing )
กลไกการต้านความชรา (Anti-Aging )
ในปี 2021 ศาสตราจารย์เดวิด ซินแคลร์ (David Sinclair) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Lifespan : Why We Age and Why We Don’t
Have To (Thorsons GB Publisher,2019/9, 416p) ที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่ว ดร.เดวิด ซินแคลร์กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน และการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต
เราไม่เพียงจะยับยั้งความชรา (Anti-Aging) ได้เท่านั้น แต่เรายังสามารถจะย้อนวัย (Reverse Aging) ได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นสาระที่กล่าวโดยศาสตราจารย์และหัวหน้าทีมวิจัยพันธุศาสตร์
ที่ก้าวหน้าที่สุดของโลกโดยมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกเป็นเดิมพัน จึงมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้คนต้องรับฟังโดย ดร.ซินแคลร์ประมวลจากเหตุผลต่าง ๆว่า
หลังจากเราค้นพบกลไกที่นำไปสู่ความชราเราก็ทยอยค้นพบกลไกต้านความชรา อาทิเราค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-Oxidant) ที่จะสร้างสมดุลและยับยั้งอนุมูลอิสระมิให้ทำลายเซลล์
และเทคโนโลยีอื่นๆในการต้านความชรา อยู่ตลอดเวลา
คืนความเยาว์วัยให้กับมนุษย์ (Reverse Aging )
ปี 2009 คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศมอบรางวัลโนเบล ให้กับ Dr.Elizabeth Blackburn ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาชาวอเมริกันที่ค้นพบเอนไซม์เทโลเมอเรส
(Telomerase enzyme) ที่นอกจากจะสามารถปกป้องไม่ให้เทโลเมียร์หดสั้นลงแล้วยังสามารถยืดความยาวของเทโลเมียร์ที่หดสั้นลงให้ยาวขึ้นได้อันหมายถึงความสามารถยืดชีวิตเซลล์
และยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้น
ปี 2012 Dr.Shinya Yamanaka ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นและ Dr.John B Gurdon ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบกระบวนการในการกระตุ้นเซลล์ปกติที่มีในร่างกายของมนุษย์ให้กลับกลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (Induced Pluripotent Stem Cell ) อันเป็นเซลล์อ่อนวัยที่พร้อมที่จะเจริญเติบโตเพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป ดังนั้นความหวังในการรักษาโรคสมองเสื่อมหรือโรคอื่นๆที่ไม่สามารถรักษาได้ในปัจจุบันโดยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์จึงไม่ใกลเกินเอื้อมของมนุษย์
ปี 2016 Dr.Yoshinori Ohsumi ชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบปัจจัยส่งเสริมให้เซลล์กำจัดของเสียออกนอกเซลล์ด้วยกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์
(Auotphagy) เพื่อป้องกันไม่ให้ให้เซลล์ชราภาพ
ล่าสุด ในวันที่ 12 กรกฏาคม 2022 ทีมนักวิจัยโมเลกุลมณีแดงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ดำเนินการวิจัยโมเลกุลมณีแดงมายาวนานถึง 30 ปี
แถลงความก้าวหน้าในการค้นพบโมเลกุลมณีแดง (RED-GEMS : REjuvenating DNA by GEnomic Stability MoleculeS) ที่อาจเป็นยาย้อนวัยระดับดีเอ็นเอ
ฝีมือนักวิจัยไทย ที่จะจารึกไว้ใประวัติศาสตร์การแพทย์ของโลก
ความฝัน และความพยายามของมนุษย์ ตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อ 2000 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบันที่จะหลีกเลี่ยงความชรารวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่มากับความชราและมีชีวิตที่เป็นอมตะได้
คงเป็นเรื่องที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ตลอดไป