พิธีเปิดการเรียนหลักสูตร Wellness and Longevity for Entrepreneurs Program (WLE) รุ่นที่ 2 ขึ้น ณ Pinnacle 1 ชั้น 4 InterContinental ถนน เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

วันที่ 14 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง ประธานกรรมการหลักสูตรฯ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดหลักสูตร Wellness and Longevity for Entrepreneurs Program (WLE) รุ่นที่ 2 ขึ้น ณ Pinnacle 1 ชั้น 4 InterContinental ถนน เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์กำพล ศรีวัฒนกุล ประธานกฎบัตรสุขภาพไทย (Thailand Charter of Health) และ Board of Director IARO (International Anti-Aging and Regenerative Medicine Organization) ให้เกียรติมาร่วมกล่าวต้อนรับผู้เรียนหลักสูตร WLE รุ่นที่ 2 ด้วย
เวลา 11.00-12.00 น. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมอาจ วงษ์ขมทอง  ประธานกรรมการหลักสูตรฯ บรรยายเปิดเรียนในหัวข้อ “Update Science of Wellness and Longevity” โดยได้บรรยายถึง เทรนด์ธุรกิจและการดูแลสุขภาพที่จะเกิดขึ้น โรคที่เกิดในประชากรทั่วไป โรคที่พบในผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแพทย์ล่าสุด และเนื้อหาเข้มข้นกับ 10 Program Highlights โดยวิทยากร 26 ท่านจาก 24 สถาบัน และวิทยากรพิเศษโดย Professor Dr.Masamine Jimba The University of Tokyo และ Prof.Charlie Xiang , Professor of Zhejiang University , National 1000 Talents Scheme and Chief Scientist of National 973 Program, China 
เวลา 12.00 น. ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ที่ปรึกษาหลักสูตรฯ และกรรมการหลักสูตรWLE รุ่นที่ 2 ร่วมถ่ายภาพกับผู้เรียน WLE รุ่นที่ 2 เป็นที่ระลึก
เวลา 13.15-15.15 น. ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์นรินทร สุรสินธน Chief Executive Officer, The Longevist มาบรรยายหัวข้อ “Hallmarks of Aging and Longevity Interventions” โดยท่านได้กล่าวถึงกลไกที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของเซลล์ชราภาพ ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความเสื่อม 9 ประการได้แก่ (1) ความไม่เสถียรของระดับพันธุกรรม (Genomic Instability) ความเสียหายของดีเอ็นเอ และการทำงานของเซลล์บกพร่อง (2) การสั้นลงของเทโลเมียร์ (Telomere Shortening) ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นลง (3) การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเหนือพันธุกรรม (Epigenetics Alterations) (4) การสูญเสียความสมดุลของโปรตีน (Loss of proteostasis) ความล้มเหลวของกลไกการสร้างโปรตีนของเซลล์เป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับวัย รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (5) การตอบสนองต่อสารอาหารผิดปกติ (Deregulated Nutrient Sensing) เมื่อมีการรบกวนต่อความสามารถของร่างกายในการตรวจจับและตอบสนองต่อสารอาหาร ทำให้เกิดความผิดปกติส่งผลให้เซลล์เสื่อมตามมา (6) ความผิดปกติของไมโทคอนเดรีย (Mitochondria Dysfunction ) อวัยวะที่อยู่ในเซลล์หากมีความผิดปกติจะทำให้เซลล์ขาดพลังงานและเกิดการสะสมของอนุมูลอิสะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคขึ้น (7) ความชราภาพของเซลล์ (Senescence cells) เซลล์ที่ไม่ยอมสลายไปจะทำให้สร้างสารอักเสบและสามารถขยายไปสู่เซลล์อื่นๆได้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เซลล์เกิดการเสื่อมขึ้น (8) ความอ่อนล้าของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell Exhaustion) สเต็มเซลล์คือเซลล์ที่สามารถแปลงตัวเองไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆได้ เมื่ออายุมากขึ้นสเต็มเซลล์จะมีการทำงานและความสามารถในการแบ่งตัวน้อยลงทำให้ประสิทธิภาพในการซ่อมแซมเซลล์ใหม่ลดลงด้วย     (9) การสื่อสารระหว่างเซลล์ผิดพลาด (Alter intercellular communication) ทำให้เกิดการอักเสบที่สัมพันธ์กับความแก่และเป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดโรคในร่างกาย การปรับฮอร์โมนให้สมดุลจะทำให้เซลล์สามารถกลับมาสื่อสารกันได้อย่างปกติ
เวลา 15.45 – 17.30 น. ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา  วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวแนะนำคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ ผู้เรียนหลักสูตร WLE รุ่นที่ 2 และแบ่งกลุ่ม 4 กลุ่ม เพื่อทำความรู้จักกันในแต่ละกลุ่ม “Getting Acquainted” เป็นโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเลือกหัวหน้ากลุ่ม, ผู้ประสานใจของกลุ่ม และเหรัญญิกของกลุ่ม